J-doradic.com เว็บ ดิกไทย – ญี่ปุ่น ดิกญี่ปุ่น – ไทย ที่ดีที่สุด

เลือกหมวดหมู่
ความหมาย


มารยาทพื้นฐานของญี่ปุ่น


เมื่อคุณไปอยู่ที่ต่างประเทศแล้วสิ่งที่ต้องระวังในการวางตัวในชีวิตประจำวัน ก็คงจะเป็นเรื่องมารยาทของประเทศนั้นนะครับ แต่ละประเทศจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และมีหลักการมารยาทที่ไม่เหมือนกัน สำหรับมารยาทของชาวญี่ปุ่น (Reigi Sahou) ก็มีสิ่งที่แปลกสำหรับคนไทยเยอะเหมือนกันนะครับ

ความเป็นมาของมารยาทญี่ปุ่น
หลักการมารยาทญี่ปุ่นสมัยนี้ก็มีส่วนที่ได้อิทธิผลมาจากหลายอย่าง เช่นศาสนาพุทธ(Bukkyou) โดยเฉพาะนิกายเซน(Zen shuu) ศาสนาชินโต(Shinto) ศิลปพิธีการชงชา (Sadou) และ ศิลปการต่อสู้ (Budou)ด้วย ซึ่งบางทีพ่อแม่คนญี่ปุ่นให้ลูกเรียนศิลปการต่อสู้เช่น Juudou Kendou (ศิลปการฟันดาบ) Kyuudou (ศิลปการยิงธนู) ฯลฯ เพื่อไม่ใช่ว่าให้ลูกแข็งแรงทางร่างกาย แต่เป็นการขัดเกลาจิตใจเพื่อให้ลูกมีระเบียบวินัยและรักษามารยาทนะครับ

แต่ความจริงแล้วสิ่งที่หลักการมารยาทของญี่ปุ่นดั้งเดิมได้รับอิทธิผลมากที่สุดในสมัยโบราณ ก็คือคำสอนของศาสนาขงจื้อ("Jukyou" - Confucianism)ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งคนญี่ปุ่นสมัยนั้นไม่ได้นับถือศาสนาขงจื้อเป็นศาสนา แต่นับถือเป็นวิชาหลักการมารยาท(Jugaku)นะครับ สำหรับศาสนาขงจื้อนี้มีความสำคัญมากต่อความคิดทั่วไปของชาวเอเซียทางเหนือ รวมถึงญี่ปุ่น จีน และ เกาหลี (ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่ยังรักษามารยาทตามศาสนาขงจื้ออย่างเข้มงวด) ซึ่งทำให้หลักการมารยาทของทั้งสามประเทศนั้นมีส่วนที่คล้ายกันหลายอย่าง เช่น การนับถืออาวุโสและบรรพบุรุษเป็นพิเศษ การให้ความสำคัญกับลูกชายคนโตซึ่งต้องเป็นผู้สืบตระกูลและเจ้าของบ้าน (อันนี้ไม่ค่อยถือกันมากแล้วในประเทศญี่ปุ่นสมัยนี้) ฯลฯ

ความเข้มงวดในการรักษามารยาทในประเทศญี่ปุ่น
สำหรับ ความเข้มงวดในการรักษามารยาทสมัยนี้ก็คงไม่เข้มเท่าเมื่อก่อนนะครับ โดยเฉพาะมารยาททางสังคม(Koushuu doutoku)ในเมืองใหญ่ ๆ สมัยนี้ค่อนข้างเสื่อมลงไปแล้วอย่างน่าเป็นห่วงโดยได้อิทธิผลจากวัฒนธรรม อเมริกา อีกอย่างหนึ่งถ้าคุณไปอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นนักศึกษา ก็คงจะไม่ค่อยเห็นการรักษามารยาทแบบญี่ปุ่นกันมากเท่าไร เพราะว่าในประเทศญี่ปุ่น นักศึกษาเป็นฐานะที่มีอิสระมากที่สุดในชีวิต และมักจะไม่ยอมทำตามมารยาทกันเป็นเรื่องธรรมดานะครับ แต่อย่างไรถ้าคุณมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านอาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือบ้านต่างจังหวัด คุณก็คงจะเห็นเขายังรักษามารยาทแบบญี่ปุ่นกันไม่น้อยนะครับ

นอกจากภายในบ้าน มีกรณีอีกอย่างหนึ่งที่คนญี่ปุ่นมักจะรักษามารยาทกันอย่างเข้มงวด คือในด้านธุรกิจนะครับ คุณอาจจะรู้สึกงงว่า ทำไมถึงในด้านธุรกิจที่ต้องทันสมัยของญี่ปุ่นยังรักษามารยาทแบบดั้งเดิมกันอยู่ใช่ไหมครับ สาเหตุหนึ่งก็คือเขาอยากให้พนักงานมีระเบียบในการทำงาน แต่สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ใหญ่กว่าก็คือ ในด้านธุระกิจของประเทศญี่ปุ่น ลูกค้าเป็นพระเจ้า ซึ่งนักธุรกิจหรือพนักงานฝ่ายขายที่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าประจำ จะต้องระวังสุด ๆ ในการวางตัวการพูดของตัวเอง ในเวลาติดต่อกับลูกค้าเพื่อไม่ให้เสียภาพพจน์ของบริษัท ซึ่งทำให้มีการรักษามารยาทกันอย่างเข้มงวดที่สุดนะครับ แต่ผมรู้สึกว่าอันนี้มักจะมีมากเกินพอ อย่างกับว่าต่างคนต่างทำตัวเป็นคนเรียบร้อยสุด ๆ แบบไม่ธรรมชาตินะครับ เพราะฉะนั้นบางทีคุณก็คงจะเห็นสิ่งที่ตลกอย่างเช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไม่เคยรักษามารยาท ก็จะต้องตั้งใจฝึกซ้อมการปฎิบัติตามมารยาทด้านธุรกิจ ก่อนที่จะสมัครเข้าทำงานในบริษัท บางทีทางมหาวิทยาลัยก็จะจัดการอบรมฝึกซ้อมมารยาทให้นักศึกษาด้วย ที่สาขาญี่ปุ่นของบริษัทอเมริกา ตามปกติพนักงานจะใส่เสื้อยืดกางเกงยีนตามอิสระในออฟฟิศ แต่เมื่อพบกับลูกค้าจะเปลี่ยนชุดเป็นเสื้อสูททุกครั้ง พูดถึงมารยาทด้านธุรกิจของญี่ปุ่นจะมีเยอะมาก และยุ่งยากพอสมควร แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่นด้วยกันก็ไม่จำเป็นต้องทำตามนะครับ

มารยาทในการรับประทานอาหาร
สิ่งที่คุณคงจะเห็นบ่อยที่สุดเกี่ยวกับมารยาทญี่ปุ่นก็คือเรื่องอาหารนะครับ ตามปกติถ้าคุณไปทานข้าวที่ห้องอาหารในโรงเรียน หรือที่ร้านอาหารธรรมดาคุณก็ไม่ต้องสนใจอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องมารยาท และคุณอาจจะเห็นสิ่งที่แปลกมากกว่า อย่างเช่น เวลาทานบะหมี่หรืออาหารเป็นเส้นโดยเฉพาะ Soba (บะหมี่แบบญี่ปุ่นสีเทาหรือสีม่วงอ่อนที่ทำจากข้าวบัคฮวีท Buckwheat) คนญี่ปุ่นก็จะส่งเสียงดังมากในการดูดเส้น อันนี้ไม่เสียมารยาทนะครับ การส่งเสียงดังเป็นการแสดงถึงความอร่อยของอาหารเส้น
เมื่อก่อนเพื่อนผมที่เป็นคนไทยบอกผมว่า เขาไปทาน Soba ที่ร้านแห่งหนึ่งบ่อยเพราะว่ารสชาติอร่อยดี จนสนิทกับเจ้าของร้าน แต่มีสิ่งที่เขาแปลกใจข้อหนึ่งคือ เจ้าของร้านดูท่าทางไม่พอใจเมื่อเขาทาน Soba อยู่ ในที่สุดวันหนึ่งเจ้าของร้านมาถามเขาว่า Soba ของเขาไม่อร่อยหรือเปล่า ซึ่งเจ้าของร้านเข้าใจผิดว่าเขาทานไม่อร่อยแน่ เพราะเพื่อนผมเขาพยายามทานอย่างเงียบแบบไม่ส่งเสียงเลยนะครับ แปลกไหมครับ ถ้าคุณไปทาน Soba , Udon หรือ Ramen และเจอที่อร่อยแล้ว ผมแนะนำว่าให้ส่งเสียงในขณะทานสักนิดก็จะดีกว่า เพราะถ้าไม่ส่งเสียงเลยคนญี่ปุ่นคงเห็นแปลกมาก หรือคงคิดว่าคุณทานไม่อร่อยแน่นอนนะครับ

ความจริงแล้วมารยาทการรับประทานอาหารของญี่ปุ่นก็มีเยอะเหมือนกับ Table manner ของทางยุโรปนะครับ เมื่อคุณมีโอกาสทานอาหารญี่ปุ่นแบบทางการหน่อยหรือที่บ้านของผู้ใหญ่ คุณก็ศึกษามารยาทไว้ก่อนสักนิดคงจะดีกว่านะครับ

อาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมก็จะเสริฟเป็นชุดสำหรับแต่ละคน ซึ่งไม่มีจานใหญ่สำหรับหลายคนอย่างอาหารจีนนะครับ ในชุดอาหารจะมีถ้วยหรือจานเล็กที่ใส่อาหารแต่ละอย่าง เช่นของต้ม ของย่าง ผักดอง ฯลฯ นอกจากนี้ต้องมีถ้วยข้าว (Cha wan) และถ้วยซุป (Shiru wan) อยู่ตรงข้างหน้าคนทาน ถ้วยข้าวต้องอยู่ซ้ายมือและถ้วยซุปต้องอยู่ขวามือ ถ้าวางสลับกันก็จะถือไม่ค่อยดีเพราะเป็นตำแหน่งสำหรับคนที่เสียชีวิตแล้วนะ ครับ สำหรับถ้วยข้าวและถ้วยซุป สองถ้วยนี้ ต้องเอามือยกทาน โดยเฉพาะสำหรับถ้วยซุปจะไม่มีช้อนให้ ซึ่งคุณก็จะต้องทานอย่างติดปากเหมือนกับถ้วยน้ำชานะครับ

ถ้าเป็นงานเลี้ยงที่มีสุราหรือเครื่องดื่มให้ก่อน ตามปกติห้ามดื่มเลยนะครับ ต้องรอจนกว่าจะมีการชนแก้ว(Kanpai) อันนี้ไม่เหมือนกับเมืองไทยนะครับ สำหรับอาหารก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าเป็นบุฟเฟ่ต์ก็ต้องรอให้ชนแก้วกันเสร็จก่อนจึงจะเริ่มทานได้นะครับ



สิ่ง ที่คนต่างชาติมักจะทำอย่างถูกวิธีไม่ค่อยได้ก็คือ การใช้ตะเกียบนะครับ ตะเกียบเป็นเครื่องมือในการทานอาหารญี่ปุ่นที่สำคัญที่สุด สมัยก่อนคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ใช้ช้อนหรือส้อม ใช้แค่ตะเกียบอย่างเดียวนะครับ ในมารยาทการรับประทานอาหารของญี่ปุ่นก็มีข้อห้ามสำหรับการใช้ตะเกียบ หลายอย่าง และในหนังสือคู่มือมารยาทสำหรับชาวญี่ปุ่นทุกเล่มก็มีบทเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยู่เสมอ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญและคนญี่ปุ่นเองบางคนก็มักจะทำผิดด้วยนะครับ

ข้อห้ามในการใช้ตะเกียบตามมารยาทญี่ปุ่น
Hashi-watashi คือเอาตะเกียบหยิบของกินแล้วส่งไปให้คนอื่น โดยคนที่ได้รับก็ใช้ตะเกียบรับของกินนั้น นี่เป็นข้อที่คนต่างชาติมักจะทำบ่อยโดยไม่ได้ตั้งใจนะครับ ตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่หยิบด้วยตะเกียบและส่งต่อรับด้วยตะเกียบได้ ก็คือกระดูกของศพที่เผาแล้วในพิธีงานศพเท่านั้น เราจึงห้ามทำในการทานอาหารนะครับ

ข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับงานศพญี่ปุ่น ก็จะมีอีกข้อหนึ่งคือ เอาตะเกียบเสียบให้ตั้งบนถ้วยข้าว เพราะอันนี้เป็นข้าวสำหรับคนที่เสียชีวิตแล้วนะครับ

Mayoi-bashi
คือถือตะเกียบแล้วส่ายไป ๆ มา ๆ บนอาหารหลายชนิดโดยตัดสินไม่ได้ว่าจะเอาอันไหนดี
Sashi-bashi (1)
คือเอาตะเกียบแทงของกิน
Sashi-bashi (2)
คือเอาตะเกียบชี้คน

Saguri-bashi
คือเอาตะเกียบคุ้ยหาชิ้นที่ต้องการในถ้วยอาหาร
Yose-bashi
คือเอาตะเกียบดึงหรือขนย้ายภาชนะอาหาร


Neburi-bashi คือดูดตะเกียบ
นอกจากนี้ก็มีอีกหลายข้อที่ไม่ควรทำในการใช้ตะเกียบ แต่ที่สำคัญ ๆ ก็มีแค่นี้นะครับ

มารยาทในการเยี่ยมบ้านคนญี่ปุ่น
เมื่อ คุณไปเยี่ยมบ้านคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้ใหญ่ สิ่งที่ควรระวังก็คือเวลานะครับ คุณไม่ควรจะเยี่ยมบ้านตอนเวลาทานอาหาร นอกจากว่าเจ้าของบ้านชวนให้มาทานอาหารกันที่บ้านนะครับ คนญี่ปุ่นถือว่าการเยี่ยมบ้านคนอื่นตอนเวลาทานอาหารเป็นสิ่งที่เสียมารยาท ซึ่งเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเยี่ยมก็คือตอนสายๆหรือตอนบ่ายนะครับ ไม่ควรเป็นตอนเย็นมากด้วย เพราะแม่บ้านเขาคงจะต้องเริ่มเตรียมอาหารเย็นนะครับ ถ้าโดยบังเอิญไปถึงบ้านเขาในขณะเขาทานอาหารอยู่พอดี เราก็ควรจะบอกว่า Oshokuji chuu ni ojamashite moushiwake arimasen (ขอโทษที่รบกวนเวลาทานอาหาร) และควรจะรอที่ห้องอื่น ตามปกติเจ้าของบ้านก็จะไม่ชวนกินข้าวด้วยกัน (อันนี้ไม่เหมือนกับเมืองไทย) เพราะว่าเจ้าของบ้านไม่ได้เตรียมอาหารอย่างดีสำหรับแขก และตามปกติคนที่จะเยี่ยมก็ต้องทานข้าวให้เสร็จมาก่อนที่จะเยี่ยมเขาอยู่แล้ว นะครับ

อีกข้อหนึ่งก็คือของฝาก(Temiyage)นะครับ ตอนไปเยี่ยมบ้านผู้ใหญ่ เราควรจะนำของฝากสักอย่างก็ถือว่าเป็นมารยาทดีนะครับ ตามปกติแล้วของฝากในกรณีเยี่ยมบ้านคนอื่น ควรเป็นขนมแบบที่ใส่ในกล่องสวย(ไม่ใช่ที่ใส่ในถุงพลาสติกธรรมดา) หรือขนมแค้กนะครับ ที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีร้านขายขนมแบบสวยงามที่ใส่กล่องดีๆ (ที่มีราคาแพงหน่อย)เยอะ เพราะว่าในมารยาทญี่ปุ่นก็จะมีโอกาสใช้กันบ่อย ซึ่งขนมแบบนี้ไม่ใช่เป็นขนมสำหรับผู้ซื้อเพื่อกินเอง แต่สำหรับของฝากในการเยี่ยมคนอื่นมากกว่านะครับ

ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้วสำหรับคนต่างชาตินะครับ รู้สึกว่าผมได้เขียนเรื่องที่เครียดหน่อยติดต่อกันนะครับ สำหรับตอนต่อไปนี้ ผมก็จะเอาเรื่องที่สบายสบายมาให้เพื่อนคนไทยทุกคนดีกว่านะครับ
17 / 04 / 2002

ภาพประกอบจาก

ภาพKendo : http://www.kendo.or.jp/english-page/concept-of-Kendo.htm
ภาพKyuudo : http://www.shintaido.com/text/pic-kyudo-s.shtml
ข้อห้ามการใช้ตะเกียบ : http://www.jnto.go.jp/japanese/hello/culture/culture_a3.html

เข้าเมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหลิ่วตาตามนะคะ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มารยาทเป็นสิ่งสำคัญมากเลยทีเดียว สำหรับตอนหน้า...ก็สบายสบายอย่างที่คุณโยบอกนั่นแหล่ะค่ะ เพราะคุณโยจะสอนวิธีการอาบน้ำสไตล์ญี่ปุ่นให้ทราบกันค่ะ ติดตามตอนต่อไปนะคะ