J-doradic.com เว็บ ดิกไทย – ญี่ปุ่น ดิกญี่ปุ่น – ไทย ที่ดีที่สุด

เลือกหมวดหมู่
ความหมาย

โดย มนกัญญ์ เลิศสามัตถิยกุล

เผลอ แปล๊บเดียวปีพ.ศ. 2546 ก็จะผ่านไปแล้วนะครับ เมื่อเริ่มศักราชใหม่ ประเทศญี่ปุ่นก็จะเป็นประเทศแรกที่ได้ต้อนรับปีใหม่ซึ่งตรงกับศักราชเฮเซปี ที่16

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำคำว่า ปีใหม่ ซึ่งเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 正月:しょうがつ อ่านว่า “โชกะซึ” โดยทั่วไปเวลาเรียกคำว่าปีใหม่มักจะเติมคำว่า お“โอะ” นำหน้าเพื่อแสดงความสุภาพเสมอ เป็น 正月

 
正 : しょう
โช
หมายถึง ถูกต้อง เที่ยงตรง
  月 : がつ กะซึ หมายถึง เดือน หรือ พระจันทร์ซึ่งปกติมักจะอ่านว่าつき“ซึคิ”

เนื่องในโอกาสนี้ ก็ขอสวัสดีปีใหม่กันแบบญี่ปุ่นให้สมกับคอลัมน์ของเรากันหน่อยนะครับ โดยมักจะใช้คำว่า

明けましておめでとうございます : あけましておめでとうございます
อ่านว่า “อะเคมะชิเตะ โอะเมะเดะโต โกะไซมะสุ”

 
明けまして:あけまして
อะเคมะชิเตะ
ความหมายโดยรวมจะหมายถึง เปิดสู่รุ่งอรุณของวันปีใหม่
  おめでとう โอะเมะเดะโต แปลว่า ยินดี ซึ่งใช้แสดงความยินดีได้ในทุกเรื่อง 
  ございます โกะไซมะสุ แปลว่า ครับหรือค่ะเพื่อแสดงความสุภาพ

หรืออาจจะเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า อ่านว่า 今年もよろしくお願いします : ことしもよろしくおねがいします“โคะโตะชิโมะโยโระชิคุโอะเนะไงชิมะสุ”

 
今年 : ことし
โคะโตะชิ
แปลว่า ปีนี้
  โมะ เป็นคำช่วยแปลว่า ด้วย
  よろしくお願いします โยะโระชิคุโอะเนะไงชิมะสุ ซึ่งหมายถึง ขอความกรุณาฝากเนื้อฝากตัว

เมื่อ รวมกันทั้งหมดก็จะหมายถึง ขอแสดงความยินดีกับปีใหม่และขอฝากเนื้อสำหรับปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตามทางพวกเราทางทีมงานก็ต้องขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยเหมือนกันนะคร้าบ ก่อนจะลิเกกันไปกว่านี้กลับมาเข้าเรื่องดีกว่าครับ ประโยคนี้จะใช้ในการสนทนากันในตอนแรกที่เจอกันหลังจากปีใหม่ หรือนำมาเขียนในไปรษณียบัตร ซึ่งคนญี่ปุ่นจะนิยมส่งไปรษณียบัตรส่งความสุขในช่วงปีใหม่ที่เรียกเป็นว่า 年賀状:ねんがじょう อ่านว่า “เนนกะโจ” แต่ละคำเป็นการอ่านแบบองโยะมิ

 
年:ねん
เนน
แปลว่า ปีหรืออายุ โดยจะอ่านว่า とし“โทะชิ”เมื่ออ่านเป็นแบบคุงโยะมิ
  賀 : が กะ  แปลว่า การแสดงความยินดี
  状 : じょう โจ หมายถึง บัตร

หรือจะเรียกอีกอย่างตามป้ายที่นำมาแสดงในวันนี้ นั่นก็คือ  年賀はがき : ねんがはがき อ่านว่า " เนนกะฮะงะคิ" ซึ่งยังพอจะจำกันได้ไหมครับว่า คำว่า 葉書  : はがき เนี่ยเราเคยเรียนกันมาแล้วในตอนไปรษณีย์ ที่แปลว่าไปรษณียบัตร

ซึ่ง เมื่อรวมกันทั้งหมดก็หมายถึง บัตรส่งความสุขปีใหม่ ซึ่งจะจัดส่งให้กับญาติผู้ใหญ่เพื่อนสนิทมิตรสหาย ครูบาอาจารย์ ผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือท่าน หรือคนที่ได้รู้จักและให้การดูแลช่วยเหลือเราในปีที่ผ่านไป ซึ่งขอบอกเลยครับว่าไม่ใช่งานเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เราคิดนะครับ เพราะบางคนส่งกันทีเป็นพัน ๆ ใบ เพราะฉะนั้นในกรณีเช่นนี้จะมานั่งบรรจงเขียนทีละฉบับก็คงจะไหวหรอกครับ จึงทำให้สิ่งที่ขายดีในช่วงนี้ก็คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบไปรษณียบัตร แล้วใช้พิมพ์ออกมาในทีเดียวทีละมากๆได้โดยไม่เสียเวลา และที่สำคัญสามารถตกแต่งให้ได้อย่างสวยงามตามที่ใจต้องการโดยไม่ต้องเหนื่อย มาก

 

นอกจากจะใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดทำส.ค.ส.ด้วยตนเองแล้ว สิ่งที่ง่ายกว่านั้นก็คือ ฝากให้คนอื่นเขาทำให้ครับ คือแค่หารูปที่ต้องการ ซึ่งรูปที่นำไปนั้นมักจะเป็นรูปตัวเราเองในปัจจุบันของเราหรือรูปรวมญาติในครอบครัว สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกเพิ่มจากหนึ่งป็นสองหรือพูดง่ายๆ ว่าเพิ่งแต่งงานข้าวใหม่ปลามัน(ส์)นั้น ก็จะเอารูปที่ทำให้คนอื่นอิจฉาตาร้อนมาอวดเพื่อเป็นการเพิ่มอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวมาใช้


ส่วน บ้านที่มีสมาชิกใหม่ในปีนั้นๆ ก็มักจะเอารูปสุดเท่ห์ของลูกสุดที่รักมาลงเป็นหน้าตาของส.ค.ส.ของตนในปีนั้น แต่ส่วนบ้านหรือครอบครัวไหนมีสมาชิกที่จากไปสบายแล้วในปีนั้น ๆ เพื่อแสดงว่าเรายังอยู่ในทุกข์ก็อาจจะจัดทำการ์ดของดรับส.ค.ส.ไปยังท่านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะส่งมาหาเราให้ทราบและเป็นการอวยพรก่อนล่วงหน้าไปในตัว แต่ในกรณีนี้ไม่ต้องนำรูปท่านที่จากไปมาแปะเอาไว้นะครับ เพราะเดี๋ยวจะตกใจแตกตื่นกันไปเสียก่อน เมื่อได้รูปถูกใจแล้วก็จะนำรูปไปให้ที่ร้านถ่ายรูปหรือร้านที่มีการให้ บริการจัดทำส.ค.ส. และที่ร้านจะมีรูปแบบรวมถึงคำอวยพรต่างๆ ให้เลือกมากมายหลายแบบ

สำหรับท่านที่มีหัวคิดดี ๆ ก็จะทำเอง วางรูปแบบแปลกๆ ที่ไม่ซ้ำใคร หรืออาจจะใช้อุปกรณ์เสริมในการตกแต่งอย่างเช่น ตายางใช้ปั้มเป็นรูปหรือเป็นคำต่าง ๆ ถ้าจะให้ซึ้งตรึงใจผู้ที่ได้รับแล้วละก็ คำต่างๆ ที่เขียนมักจะเขียนอย่างบรรจงสวยงามกลั่นกรองมาจากความตั้งใจของผู้เขียน แต่สำหรับผมแล้วผมเองก็พยายามเขียนเองมาทุกปีครับ เพราะอยากได้ชื่อว่าใช้ฝีมือหน่อย แต่พอจำนวนฉบับมากขึ้นฝีในมือ รวมถึงลายมือก็จะอ่อนระดับลงไปเรื่อยๆ จนบางทีมีเพื่อนๆต่อว่า มาเบาะๆ ว่า เขารู้ว่าผมมักจะงานยุ่งช่วงปีใหม่แต่ไม่ต้องถึงขนาดใช้เท้าหลังเขียนก็ได้ จึงทำให้ผมต้องเริ่มพิจารณาตัวเองใหม่และคิดว่าปีต่อๆ ไปควรจะทำอย่างไรดี  


การ จัดส่งไปรษณียบัตรส.ค.ส.ในช่วงปีใหม่จะจัดทำกันแทบจะทุกครอบครัว จนกลายเป็นประเพณีและเป็นกิจกรรมเพื่อต้อนรับปีใหม่ที่สำคัญที่สุดอย่าง หนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งจะเริ่มเตรียมการตั้งแต่ก่อนปีใหม่ โดยทั่วไปจะส่งก่อนวันที่ทางไปรษณีย์กำหนด เพื่อให้ทางไปรษณีย์จัดรวบรวมแล้วส่งให้ผู้ที่เราส่งถึงในตอนเช้าของวันที่ 1 มกราคม ซึ่งถ้าส่งช้ากว่าวันที่กำหนด ไปรษณียบัตรส.ค.ส.ก็จะถูกส่งถึงหลังจากวันปีใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้ผู้รับเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับเขาแล้วละก็ จะทำการจัดส่งให้เสร็จก่อนวันที่กำหนดไว้ถึงจะเป็นการดีครับ

  โดยปกติถ้าเป็นไปรษณียบัตรที่ขายสำหรับการส่งเป็นส.ค.ส.โดยเฉพาะนั้น จะมีการเขียนคำว่า 年賀 : ねんが “เนนกะ” อยู่ข้างหน้า แต่ถ้าเป็นการส่งโดยใช้การ์ดอื่นๆ หรือเป็นจดหมาย จะต้องเขียนที่หน้าซองด้วยคำว่า 年賀 “เนนกะ”มิเช่นนั้นอาจจะเป็นอย่างที่ผมเคยประสบมา นั่นก็คือเมื่อตอนที่ผมไปอยู่ที่ญี่ปุ่นใหม่และยังไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไรนัก ผมอุตส่าห์ให้ทางบ้านที่เมืองไทยเลือกการ์ดที่สวยงามเป็นแบบไทยๆ แล้วรีบส่งมาให้ผมที่ญี่ปุ่นแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้จัดส่งให้ทันตามวันที่ทางไปรษณีย์กำหนด หลังจากที่ผมจัดการส่งการ์ดไปแล้ว ก็มานั่งยิ้มคิดว่าปีนี้เราจัดการเรียบร้อยก่อนปีที่แล้วมา แต่ที่ไหนได้ครับ ผมลืมเขียนคำว่า 年賀 “เนนกะ” ที่หน้าซอง ทำให้การ์ดนั้นถูกส่งเป็นจดหมายปกติซึ่งซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 วันเท่านั้น ซึ่งทำให้ส่งไปถึงผู้รับก่อนวันปีใหม่ ทำให้เกิดการหน้า (อันหนาพอสมควรของผม) แตก เมื่อมีคนญี่ปุ่นโทรศัพท์มาแซวว่าเราพลาดอย่างมหันต์ในการส่งส.ค.ส.ปีนั้น

ไปรษณียบัตรส.ค.ส.ที่ซื้อที่ผลิตจากไปรษณีย์นั้นจะราคาแผ่นละ 50 เยน หรือประมาณ 15-20 บาท บางชนิดจะราคาแพงกว่าอีกนิดหน่อย เนื่องจากมีการบวกเงินเพื่อเป็นการบริจาคไปในตัว นอกจากนี้ที่ตัวไปรษณียบัตรจะมีเลขเป็นรูปแบบของสลากไว้จับให้รางวัลในช่วงปีใหม่ ฉะนั้นนอกจากจะได้ส่งความสุขความปรารถนาดี ความคิดถึงความห่วงใยกันในช่วงปีใหม่แล้ว ยังได้บุญจากการบริจาคเงินผ่านการซื้อไปรษณียบัตร แถมยังอาจจะนำโชคมาสู่ผู้ที่เราส่งให้อีกต่างหากครับ เรียกว่า ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกเป็นฝูงก็ว่าได้

การ ส่งไปรษณียบัตรส.ค.ส.ในปัจจุบันมักจะไม่ค่อยนิยมกันเท่าไรในปัจจุบัน เนื่องจากมีจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ หรือ อีเมล์เป็นสิ่งที่ทุ่นแรง ไม่ต้องจัดทำให้ยุ่งยากและไม่จำกัดเรื่องเวลาในการส่ง แถมถึงเร็วทันใจ แต่การส่งไปรษณียบัตรนั้นนอกจากข้อดีต่าง ๆ ที่ได้เล่าให้ฟังกันไปแล้วนั้นยังมีข้อดีที่อาจจะเป็นแค่สำหรับคนบางคน แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี นั่นก็คือเป็นการเพิ่มงานให้กับนักเรียนนักศึกษาที่หางานพิเศษทำ หรือผู้ที่หาเช้าบางทีค่ำก็ยังไม่ได้กินได้ทำกันในช่วงปีใหม่ เนื่องจากจำนวนที่มีการจัดส่งทั่วประเทศนั้นไม่ใช่เป็นเลขไม่กี่หลัก ถึงแม้จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการแยกตามที่อยู่แล้วก็ตามแต่ก็ต้องใช้กำลังคน ในการจัดการมาก และรวมถึงการจัดส่งนั้นจะต้องจัดการพร้อมกันหมดทั่วประเทศในตอนเช้าของวันปี ใหม่ เพื่อเป็นการส่งความสุขให้ทั่วถึงกันในเวลาพร้อม ๆ กัน เป็นการให้ความสำคัญแก่ทุกคนที่เฝ้ารอไปรษณียบัตรส.ค.ส.ในตอนเช้า

หลัง จากได้ไปรษณียบัตรกันมาแล้วก็จะมานั่งอ่านกัน ว่าในปีที่ผ่านไปเกิดอะไรขึ้นกับท่านอื่น ๆ กันบ้าง ซึ่งก็เป็นกิจวัตรหนึ่งขาดไม่ได้ในช่วงหยุดปีใหม่ และนอกจากกิจกรรมเกี่ยวกับไปรษณียบัตรส.ค.ส.แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่นั่นก็คือการกิน ๆ นอน ๆ อยู่ที่บ้าน บางคนอาจจะบอกว่า อ้าว...เหมือนกับบ้านเราเลย แต่คนญี่ปุ่นไม่ได้กิน ๆ นอน ๆ ธรรมดาครับ มักจะรับประทานส้มแล้วนั่งๆ นอนๆ อยู่ในโต๊ะเตี้ย ๆ ที่มีเครื่องทำความร้อนติดอยู่และมีผ้ามาคลุมไว้ให้เอาขาซุกเข้าไป ซึ่งเรียกว่า こたつ อ่านว่า “โคะทะซึ” บางคนบอกว่าแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว แต่บางคนบอกว่าหยุดปีใหม่ทั้งที ยิ่งปีนี้บางคนหยุดติดกัน 9 วันก็จะวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศกันเสียส่วนใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายนั้นน้อยกว่าเที่ยวในประเทศเสียอีก  

แต่จะอยู่ที่ไหนหรืออยู่อย่างไรกับใครก็ตาม ก็ขอให้มีความสุขในช่วงปีใหม่และตลอดศกนี้นะครับ แล้วฉบับหน้าผมจะมาเล่าต่อว่า ในวันปีใหม่ที่ญี่ปุ่นนั้นเขาทำอะไรกันอีก เผื่อท่านที่สนใจจะได้เตรียมตัวไปหาประสบการณ์ในปีหน้าที่ญี่ปุ่นนะครับ แต่สำหรับผมปีนี้ขอหนีหนาวกลับมาบ้านนอกของผมดีกว่าครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ





.

ที่มา

Jeducation.com : เรียนต่อญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่น ศึกษาต่อญี่ปุ่น Study in Japan  , Study Japanese language