J-doradic.com เว็บ ดิกไทย – ญี่ปุ่น ดิกญี่ปุ่น – ไทย ที่ดีที่สุด

เลือกหมวดหมู่
ความหมาย



โดย สมพร เตมีพัฒนาพงษา

ใน คืนวันที่ 31 ธันวาคม วันส่งท้ายปีเก่าที่ญี่ปุ่นนั้น ห้างสรรพสินค้า และ ร้านค้าต่างๆ จะปิดทำการเร็วกว่าปกติ ทำให้บรรยากาศดูเงียบเหงาไปถนัดตา เพราะว่าผู้คนต่างก็รีบที่จะกลับบ้านและเตรียมตัวฉลองกับคนในครอบครัว หรือ คนที่ตนรัก แต่ในทางกลับกันถ้าหากเป็นร้านอาหาร หรือ อิซะกะยะ ( ร้านสำหรับดื่มเหล้าของญี่ปุ่น ) แล้ว จะเป็นช่วงที่กอบโกยได้มากที่สุด บางร้านก็บริการลูกค้าด้วยการเปิดให้บริการโต้รุ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเข้าออกร้านไหน ก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คน ถึงแม้ว่าจะต้องเข้าแถวรอยาวเหยียด รอเป็นชั่วโมง ๆ ก็ยอม

และเมื่อพูดถึงอาหาร สิ่งที่คนญี่ปุ่นนิยมทานกันในคืนวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึง ก็คือ 年越しそば : としこしそば โทชิโคชิโซบะ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะได้มีอายุที่ยืนยาวเหมือนดั่งเส้นโซบะ ตามสถานที่ต่างๆ อาทิเช่น สวนสนุก ก็มีกิจกรรมต่างๆเพื่อร่วมต้อนปีใหม่ด้วย เช่น มีการจุดพลุ การจัดคอนเสิร์ต เพื่อให้ผู้คนได้มาร่วมกันนับถอยหลัง เฉลิมฉลองต้อนรับวันปีใหม่ด้วยกัน ในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ แต่แฝงไปด้วยความอบอุ่น ความรื่นเริง และเสียงหัวเราะ นอกจากนี้ รถไฟสายต่างๆ ก็ยังเปิดให้บริการเป็นพิเศษ โดยการเพิ่มเที่ยวรถไฟ และขยายเวลาทำการไปจนถึงเช้าเช่นกัน

ตามศาลเจ้า หรือ วัดชินโตที่ใหญ่ๆ ก็จะแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่มีมาร่วมฟังการตีระฆังส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่หรือที่เรียกว่า 除夜の鐘 : じょやのかね โจยะโนะคะเนะ ตามประเพณีโบราณของญี่ปุ่นพระจะตีระฆังจำนวน 108 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้าย 108 อย่างที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ เมื่อตีครบ 108 ครั้ง ก็ถือว่ากิเลสตัณหา ความโลภต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวได้ถูกชำระออกไป พร้อมที่จะต้อนรับวันใหม่ ปีใหม่ด้วยจิตใจที่บริสุทธ์อย่างแท้จริง


และเมื่อเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม วันแรกของปีซึ่งเรียกว่า 元日 : がんじつ กังจิซึ เปรียบเสมือนวันแห่งการเริ่มต้น และต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ผู้คนก็จะแห่ไปทำบุญตามวัด ไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคล และอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเรียกว่า 初詣 : はつもうで ฮาซึโมเดะ ซึ่งจะเริ่มทำกันตั้งแต่วันที่ 1 – 3 มกราคม

ในตอนเช้าของวันปีใหม่ หรือที่เรียกว่า 元旦 : がんたん กังทัน ผู้คนในครอบครัวจะอยู่กันพร้อมหน้า เพื่อรับประทานอาหารมื้อแรกของปีใหม่ร่วมกัน ซึ่งจะประกอบด้วย


  • おとそ โอะโทะโซะ หรือ เหล้าสาเกใส่สมุนไพรดื่มเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ และเชื่อกันว่าจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายและรักษาสุขภาพได้อีกด้วย

  • お雑煮 : おぞうに โอะโซนิ หรือซุปโมจิ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำขึ้นพิเศษสำหรับปีใหม่โดยเฉพาะ
  • おせち料理 : おせちりょうり โอเซะจิเรียวริ อาหารปีใหม่ตามประเพณีอีกอย่าง ซึ่งเป็นอาหารที่เก็บได้นาน ส่วนใหญ่จะนิยมทานกันเป็นเวลา 3 วัน ประกอบด้วยอาหารหลากหลายอย่าง เช่น ปลาย่าง ไข่ปลา กุ้ง สาหร่าย ถั่วดำเชื่อม เป็นต้น


ในวันปีใหม่นี้ก็เป็นวันที่เด็กๆ ต่างรอคอยเพื่อที่จะรับเงินปีใหม่ ซึ่งเรียกว่า お年玉 : おとしだま โอโทชิดะมะ จากพ่อเม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าหากเป็นที่เมืองไทยเรา ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันกับช่วงเทศกาลตรุษจีน  
 
โอะ
ใส่ไว้ข้างหน้าเพื่อให้เป็นคำสุภาพ
  年 : とし โทชิ แปลว่า “ปี” ( อ่านแบบคุงโยะมิ)
  玉 : だま ดะม ถ้าแปลตามตัวเลยจะแปลว่า “เหรียญ”
เมื่อนำมารวมกันก็จะมีความหมายโดยรวมก็จะหมายถึง “เงินปีใหม่” นั่นเอง


และในช่วงปีใหม่นี้ นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของทุกๆ คนแล้ว สำหรับวัยรุ่นชาวญี่ปุ่นที่มีอายุถึง 20 ปี ก็ถือว่าเป็นปีแห่งการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวด้วยเช่นกัน นั่นหมายถึงว่า ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว มีพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะมีพิธีที่ฉลองบรรลุนิติภาวะ เพื่อเป็นเกียรติให้กับวัยรุ่นหนุ่มสาว และถือเป็นการต้อนรับสมาชิกใหม่ของสังคม ซึ่งเรียกว่า 成人式 : せいじんしき เซอิจินชิคิ


 
成人 : せいじん
เซอิจิน
หมายถึง “ผู้ใหญ่” หรือ ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
  式 : しき ชิคิ หมายถึง พิธี

ซึ่งจะกำหนดให้วันที่ 15 มกราคม ของทุกปีเป็นวันบรรลุนิติภาวะ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการดังกล่าว โดยเปลี่ยนมาเป็นวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันจันทร์ที่ 12 มกราคม ซึ่งในวันนี้ หนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่มีอายุครบ 20 ปี จะร่วมฉลองพิธีดังกล่าวนี้ ณ สถานที่ที่ทางเขตที่ตนอาศัยอยู่กำหนดไว้ โดยภายในงานจะมีการกล่าวต้อนรับ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกใหม่ของสังคม พร้อมทั้งร่วมแสงความยินดีและอวยพรต่อวัยรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้ โดยผู้ชายจะใส่สูท ผูกเนคไท ส่วนผู้หญิงก็จะชุดกิโมโน หรือ จะเป็นชุดสูทกับกระโปรง และถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก

หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงปีใหม่นี้ คงจะได้เห็นภาพหญิงสาวชาวญี่ปุ่นในชุดกิโมโนที่หรูหราและสวยงาม เดินตามท้องถนน ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจ พร้อมกับได้สัมผัสกลิ่นอายของดินแดนอาทิตย์อุทัยได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังได้ซึมซับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ยังคงอนุรักษ์มาถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บ้านเรา คงไม่มีภาพเหล่านี้ให้เห็นกันมากนัก โดยเฉพาะในกรุงเทพ เมืองฟ้าอมร คงไม่มีใครที่จะกล้าใส่ชุดไทยออกมาเดินตามท้องถนน เพื่อไปทำบุญตามวัดอย่างเป็นแน่ แต่ถ้าพูดถึงปีใหม่ของไทยเราก็ไม่น้อยหน้า เพราะว่าเราก็มีขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ซึ่งได้อนุรักษ์และถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมายังรุ่นลูก รุ่นหลานอย่างพวกเรา อย่างเช่น ประเพณีสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองแบบใด ขอให้เรามีความสุขใจ ก็เป็นพอ

ปิดท้ายนี้... ก็ขอให้ทุกคนมีความสุขตลอดปีใหม่ ฟ้าใหม่ พร้อมทั้งมีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดทั้งปีนะคะ 今年もよろしくお願いします。: ことしもよろしくおねがいします โคโตชิโมะ โยโรชิคุ โอเนะไงชิมัส

 

 

.

 

ที่มา

Jeducation.com : เรียนต่อญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่น ศึกษาต่อญี่ปุ่น Study in Japan  , Study Japanese language